Lunar calendar คืออะไร?
Lunar calendar (n.) = ปฏิทินจันทรคติ เป็นการใช้ปฏิทินรูปแบบหนึ่งโดยยึดเอาการโคจรของดวงจันทร์เป็นตัวกำหนดวัน เดือน หรือว่าที่เราได้ยินกันบ่อยๆก็คือ Lunar phase (ข้างขึ้น ข้างแรม)
ข้างขึ้นข้างแรม และปฏิทินแบบจันทรคติ(lunar calendar)
ข้างขึ้นข้างแรม (The Moon’s Phases) เกิดขึ้นเนื่องจากดวงจันทร์มีรูปร่างเป็นทรงกลม ไม่มีแสงในตัวเอง ด้านสว่างได้รับแสงจากดวงอาทิตย์ แต่ด้านตรงข้ามกับดวงอาทิตย์ถูกบังด้วยเงาของตัวเอง ดวงจันทร์โคจรรอบโลก ทำให้มุมระหว่างดวงอาทิตย์-ดวงจันทร์-โลก เปลี่ยน เปลี่ยนแปลงไปวันละ 12 องศา เมื่อมองดูดวงจันทร์จากโลก เราจึงมองเห็นเสี้ยวของดวงจันทร์มีขนาดเปลี่ยนไปเป็นวงรอบดังภาพที่ 1 ใช้ประมาณ 30 วัน
คนไทยแบ่งเดือนทางจันทรคติ (Lunar month) ออกเป็น 30 วัน คือ วันขึ้น 1 ค่ำ – วันขึ้น 15 ค่ำ และ วันแรม 1 ค่ำ – วันแรม 15 ค่ำ โดยถือให้วันขึ้น 15 ค่ำ (ดวงจันทร์สว่างเต็มดวง), วันแรม 15 ค่ำ (ดวงจันทร์มืดทั้งดวง), วันแรม 8 ค่ำ และวันขึ้น 8 ค่ำ (ดวงจันทร์สว่างครึ่งดวง) เป็นวันพระ วันแรม 15 ค่ำ (New Moon) : เมื่อดวงจันทร์อยู่ระหว่างโลกกับดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์หันด้านเงามืดเข้าหาโลก ตำแหน่งปรากฏของดวงจันทร์อยู่ใกล้กับดวงอาทิตย์ แสงสว่างของดวงอาทิตย์ ทำให้เราไม่สามารถมองเห็นดวงจันทร์ได้เลย
- วันขึ้น 8 ค่ำ (First Quarter) : เมื่อดวงจันทร์เคลื่อนมาอยู่ในตำแหน่งมุมฉากระหว่างโลกกับดวงอาทิตย์ ทำให้เรามองเห็นด้านสว่างและด้านมืดของดวงจันทร์มีขนาดเท่ากัน
- วันขึ้น 15 ค่ำ หรือ วันเพ็ญ (Full Moon) : ดวงจันทร์โคจรมาอยู่ด้านตรงข้ามกับดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์หันด้านที่ได้รับแสงอาทิตย์เข้าหาโลก ทำให้เรามองเห็นดวงจันทร์เต็มดวง
- วันแรม 8 ค่ำ (Third Quarter) : ดวงจันทร์โคจรมาอยู่ในตำแหน่งมุมฉากระหว่างโลกกับดวงอาทิตย์ ทำให้เรามองเห็นด้านสว่างและด้านมืดของดวงจันทร์มีขนาดเท่ากัน
วิธีสังเกตข้างขึ้นข้างแรม
คนโบราณมองเห็นพื้นที่สีคล้ำซึ่งเต็มไปด้วยหลุมอุกาบาตบนดวงจันทร์เป็นรูปกระต่ายดังภาพ เราสามารถใช้รูปกระต่ายบนดวงจันทร์ช่วยสังเกตข้างขึ้นข้างแรมได้ ดังนี้
- วันขึ้น 15 ค่ำ (Full Moon) : ดวงจันทร์อยู่ทางด้านตรงข้ามกับดวงอาทิตย์ เราจะมองเห็นดวงจันทร์เต็มดวง ขึ้นที่ขอบฟ้าด้านทิศตะวันออกเวลาประมาณ 6 โมงเย็น
- ข้างแรม (Waning Moon) : เนื่องจากดวงจันทร์โคจรรอบโลก 1 รอบใช้เวลา 29.5 วัน ทำให้เรามองเห็นดวงจันทร์ขึ้นช้าวันละ 50 นาที หรือประมาณ 12 องศา เราจึงมองเห็นดวงจันทร์ตอนเย็นก่อนดวงอาทิตย์ตก และเห็นหัวกระต่าย เสี้ยวของดวงจันทร์บางขึ้นจนกระทั่งมืดหมดทั้งดวงในวันแรม 15 ค่ำ
- วันแรม 15 ค่ำ (New Moon) : ดวงจันทร์อยู่ระหว่างดวงอาทิตย์กับโลก เราจึงมองเห็นแต่เงามืดของดวงจันทร์ ดวงจันทร์จะขึ้นและตกพร้อมๆ กับดวงอาทิตย์
ข้างขึ้น (Waxing Moon) : เราจะมองเห็นดวงจันทร์ตอนรุ่งเช้าก่อนดวงอาทิตย์ขึ้น และไม่เห็นหัวกระต่าย เสี้ยวของดวงจันทร์จะหนาขึ้นจนกระทั่งสว่างเต็มดวงในวันขึ้น 15 ค่ำ
ปฏิทินจันทรคติ (lunar calendar) ใช้เรียกรูปแบบการใช้ปฏิทินรูปแบบหนึ่ง โดยใช้วิถีของดวงจันทร์เพื่อบอกข้างขึ้นข้างแรมบอกเดือน
ปฏิทินจันทรคติในหนึ่งเดือนจะนับตามการโคจรรอบโลกของดวงจันทร์ ซึ่งประมาณ 29 วันครึ่ง ซึ่งในหนึ่งปีจะแบ่งเป็น 12 เดือนซึ่งมีทั้งหมด 354 วัน โดยวันจะน้อยกว่าปฏิทินสุริยคติ 10 วันเศษ ซึ่งเมื่อถึงปีที่จำนวนวันที่เกินมาครบประมาณ 29.5 วันเศษ จะมีการเพิ่มเดือนเข้ามาอีกหนึ่งเดือน ซึ่งทำให้ปีนั้นมี 384 วัน
ตัวอย่างเช่น ในปฏิทินจันทรคติไทย จะเรียกว่าอธิกมาส โดยจะเพิ่มเดือน 8 เข้ามาอีกหนึ่งเดือนซึ่งเรียกว่า เดือน 8/8 (หรือ 8-8 หรือ 88 ก็เขียน) โดยในปีนั้นจะมี 13 เดือน ในปีที่ 3, 6, 9, 11, 14, 17 และ 19 ในปีทางจันทรคติ จะมี 12 เดือน ได้แก่ เดือนอ้าย เดือนยี่ เดือนสาม เดือนสี่ เดือนห้า เดือนหก เดือนเจ็ด เดือนแปด เดือนเก้า เดือนสิบ เดือนสิบเอ็ด เดือนสิบสอง
โดยเดือนคู่จะมี 30 วัน คือวันขึ้น 1 ค่ำ ถึง วันขึ้น 15 ค่ำ และวันแรม 1 ค่ำ ถึง วันแรม 15 ค่ำ ส่วนเดือนคี่มี 29 วัน คือวันขึ้น 1 ค่ำ ถึง วันขึ้น 15 ค่ำ และวันแรม 1 ค่ำ ถึง วันแรม 14 ค่ำ นอกจากนี้ยังมีบางปีที่มีวันแรม 15 ค่ำ เดือน 7 เรียกว่าอธิกวาร โดยจะมีในปีที่ 6, 12, 17, 22, 28, 33 และ 38 ทั้งนี้ เพื่อให้เดือนแต่ละเดือนมีค่าเฉลี่ยของวันในเดือนเข้าใกล้ 29.530588 วันมากที่สุด